ค้นหา

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คู่มือการเขียนรายงานโครงงานฯ ตอนที่ 2

                   คู่มือการเขียนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์
 

                                         โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์
                                                            จัดทำโดย
             สาขาโอลิมปิกวิชาการและพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
           สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ
................................................................................................................................................................................................................................

2. ส่วนเนื้อเรื่อง

ส่วนนี้กำหนดให้ทำแบบเป็นบท จำนวน 5 บท ประกอบด้วย
           2.1 บทที่ 1 บทนำ
           2.2 บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
           2.3 บทที่ 3 วิธีดำเนินการทดลอง
           2.4 บทที่ 4 ผลการทดลอง
           2.5 บทที่ 5 สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

บทที่ 1 บทนำ

           1.1 ที่มา และความสำคัญของโครงงาน
           กล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาหรือสิ่งที่สนใจศึกษา หรือสิ่งที่ต้องการปรับปรุง โดยอธิบายในภาพกว้างก่อนจากนั้นจึงเชื่อมโยงเข้าสู่หัวข้อโครงงาน อธิบายชี้เฉพาะถึงความสำคัญให้เหตุผลว่าเพราะเหตุใดจึงต้องการทำโครงงานนี้ และแสดงหลักการหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับโครงงานให้ข้อมูลว่าเรื่องที่ทำเป็นเรื่องใหม่หรือมีผู้อื่นเคยศึกษาไว้บ้างแล้ว หากเป็นงานที่มีผู้อื่นเคยศึกษาไว้ ให้กล่าวถึงผลการทดลองนั้น และชี้ให้เห็นว่าการที่เลือกทำเรื่องนี้เป็นการทำซ้ำเพื่อตรวจสอบผล หรือทำเพิ่มเติม หรือมีการปรับปรุงในเรื่องตัวแปร วิธีหรือขั้นตอนการทดลอง หรือเปลี่ยนตัวอย่าง
           1.2 จุดประสงค์
           ระบุถึงสิ่งที่ต้องการทำในโครงงานให้ชัดเจน กระชับ เช่น เพื่อศึกษา... เพื่อออกแบบ...เพื่อสร้าง... เพื่อปรับปรุง… เพื่อทดสอบ… เพื่อออกแบบ สร้าง ประกอบ ทดสอบประสิทธิภาพ ของสิ่งประดิษฐ์...
           1.3 สมมติฐาน (ถ้ามี)
           สมมติฐานคือ การคาดคะเนคำตอบของปัญหาหรือสิ่งที่เราสนใจศึกษาอย่างมีเหตุผลตามหลักการ ทฤษฎี รวมทั้งผลการศึกษาของโครงงานที่ได้ทำมาแล้ว การเขียนสมมติฐานควรชี้แนะการออกแบบการทดลอง การสำรวจไว้ด้วย และการทดสอบประสิทธิภาพของสิ่งประดิษฐ์
           1.4 ตัวแปร (ถ้ามี)
           1.5 นิยามศัพท์เฉพาะ (ถ้ามี)
           เป็นการให้ความหมาย หรือคำจำกัดความของคำศัพท์ที่ผู้ทำโครงงานใช้ในการทำโครงงาน ซึ่งเป็นความหมายเฉพาะงานที่ทำ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันทั้งผู้ทำโครงงานและผู้อ่าน เช่น การเจริญเติบโตของต้นคะน้า หมายถึง ต้นคะน้ามีความสูง ความยาวรอบลำต้น และมีจำนวนใบเพิ่มขึ้น
           1.6 นิยามเชิงปฏิบัติการ (ถ้ามี)
           เป็นการกำหนดความหมายและขอบเขตของตัวแปรที่อยู่ในสมมติฐานที่ต้องการทดสอบให้เข้าใจตรงกัน และสามารถสังเกตหรือวัดได้ โดยใช้หน่วยที่เชื่อถือได้เป็นระบบสากล ตัวอย่าง สมมติฐาน การใส่มูลไก่ในปริมาณที่แตกต่างกัน ทำให้ผักคะน้าเจริญเติบโตแตกต่างกัน
           ตัวแปรต้น มูลไก่ที่ใส่ให้ต้นคะน้า
           ตัวแปรตาม การเจริญเติบโตของต้นคะน้า
           นิยามเชิงปฏิบัติการ
  • มูลไก่ หมายถึง มูลแห้งของไก่เนื้อ พันธุ์โร๊ดไอแลนด์ อายุ 3-6 สัปดาห์ ที่เลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จจาก CP
  • การเจริญเติบโตของต้นคะน้า หมายถึง การวัดความสูง ความยาวรอบลำต้น และนับจำนวนใบของต้นคะน้าแต่ละต้นทุกๆ 3 วัน เป็นเวลา 25 วัน แล้วหาค่าเฉลี่ย
  • ต้นคะน้า หมายถึง ต้นคะน้าที่มีอายุตั้งแต่งอกจากเมล็ดและปลูกมาเป็นเวลา 20 วัน
           1.7 ขอบเขตของการดำเนินงาน
           เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือ นักเรียนต้องกำหนดขอบเขตการทำโครงงานซึ่งได้แก่ การกำหนดประชากรว่าเป็นสิ่งมีชีวิต หรือสิ่งไม่มีชีวิต ระบุชื่อ กลุ่ม ประเภท แหล่งที่อยู่/ผลิต และช่วงเวลาที่ทำการทดลอง เช่น เดือน ปี รวมทั้งกำหนดกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเหมาะสมเป็นตัวแทนของประชากรที่สนใจศึกษา และกำหนดตัวแปรที่ศึกษา ตัวแปรใดที่ศึกษาเป็นตัวแปรต้น ตัวแปรใดที่ศึกษาเป็นตัวแปรตาม และตัวแปรใดบ้างเป็นตัวแปรควบคุมเพื่อเป็นแนวทางการออกแบบการทดลอง ตลอดจนมีผลต่อการเขียนรายงาน การทำโครงงานฯ ที่ถูกต้อง สื่อความหมายให้ผู้ฟังและผู้อ่านเข้าใจตรงกัน

ขอขอบพระคุณ ข้อมูลจาก......สาขาโอลิมปิกวิชาการและพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
                สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) กระทรวงศึกษาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น