ค้นหา

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คู่มือการเขียนรายงานโครงงานฯ ตอนที่ 1

                คู่มือการเขียนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์
 

                                         โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์
                                                            จัดทำโดย
             สาขาโอลิมปิกวิชาการและพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
           สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ
................................................................................................................................................................................................................................

ตอนที่ 1 องค์ประกอบของการเขียนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์

โครงสร้างของรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ กำหนดไว้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนอ้างอิง
1. ส่วนนำ ประกอบด้วย
    1.1 ปกนอก
    1.2 ใบรองปก
    1.3 ปกใน
    1.4 บทคัดย่อ
    1.5 กิตติกรรมประกาศ
    1.6 สารบัญ
    1.7 คำอธิบายสัญลักษณ์และคำย่อ (ถ้ามี)

ปกนอก
         ปกนอกเป็นส่วนที่ควรเน้นความเรียบร้อยสวยงามเป็นพิเศษ โดยทั่วไปนิยมใช้กระดาษขนาด 120 แกรม พิมพ์ตัวอักษรด้วยสีสุภาพ หรือใช้กระดาษสี ข้อความบนปกนอกประกอบด้วยข้อความเรียง ตามลำดับ ดังนี้
   1. ตราโรงเรียน
   2. ชื่อเรื่องโครงงานวิทยาศาสตร์ หรือโครงงานคณิตศาสตร์ หรือโครงงานคอมพิวเตอร์
   3. ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานทุกคน โดยระบุคำนำหน้าชื่อ ชื่อตัวและชื่อสกุล และใส่คำว่า “โดย” ก่อนพิมพ์ชื่อผู้ทำโครงงาน
   4. ข้อความที่บอกให้ทราบถึงโอกาสในการทำโครงงาน คือ “รายงานนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา ว 30291 โครงงานวิทยาศาสตร์ 2 หรือ ค 30299 โครงงานคณิตศาสตร์ 2 หรือ ง 30299 โครงงานคอมพิวเตอร์ 2 ตามหลักสูตรห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ของ สสวท. โรงเรียน....... ภาคเรียนที่ …....ชั้นมัธยมศึกษาปีที่... ปีการศึกษา .....”
       ข้อความทั้งหมดบนปกนอกควรจัดเรียงให้กระจายอยู่บนปก ได้ระยะที่สวยงาม ใช้ขนาดตัวอักษร
       ที่พอเหมาะ ดึงดูดความสนใจ และเว้นระยะห่างให้สมดุล

ใบรองปก
       เป็นกระดาษ A4 สีขาว ขนาด 80 แกรม ไม่พิมพ์ข้อความใดๆ จำนวน 1 แผ่น ใส่ไว้ถัดจากปกนอก ถ้าเป็นปกอ่อนและรายงานมีความหนาสันปกไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร อาจไม่ต้องใส่ใบรองปก
  
ปกใน
       ข้อความทั้งหมดบนปกในควรจัดเรียงให้กระจายอยู่บนปก ได้ระยะที่สวยงาม ใช้ขนาดตัวอักษรที่พอเหมาะ ดึงดูดความสนใจ และเว้นระยะห่างให้สมดุล ข้อความที่เพิ่มเติมจากปกนอก คือ ครูที่ปรึกษา ในกรณีที่มีที่ปรึกษาจากหน่วยงานนอกโรงเรียน หรือที่ปรึกษาพิเศษ ซึ่งอาจมาจากมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงาน หรือเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิชาการอิสระอื่นๆ ก็อาจเขียนหัวข้อที่ปรึกษาพิเศษหรือเขียนให้สอดคล้องกับสถานะของที่ปรึกษานั้นๆ อย่างไรก็ดีนักเรียนควรมีครูที่ปรึกษาจากโรงเรียนของนักเรียนอยู่ด้วย

บทคัดย่อ (abstract)
       บทคัดย่อ เป็นข้อความโดยสรุปของรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ที่สั้นได้ใจความชัดเจน ครอบคลุมเนื้อหาสำคัญของโครงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของจุดประสงค์ ขอบเขตของการทำโครงงาน วิธีดำเนินงาน รวมถึงวิธีการทางสถิติที่ใช้และผลการดำเนินงาน โดยการเขียนต้องไม่มีการอ้างอิง การยกตัวอย่าง ข้อความ สมการ ภาพ คำวิจารณ์ และคำฟุ่มเฟือย
       บทคัดย่อที่เป็นส่วนหนึ่งในรายงานโครงงานไม่ต้องเขียนส่วนนำของบทคัดย่อ ถ้าเป็นบทคัดย่อที่จัดทำขึ้นมาเพื่อการเผยแพร่โครงงานที่ต้องการแยกออกไปจากรายงานโครงงานฉบับสมบูรณ์ ต้องมีทั้งส่วนนำของบทคัดย่อ ส่วนบทคัดย่อ และคำสำคัญ (ถ้ามี) ดังนี้

       1. ส่วนนำของบทคัดย่อ ประกอบด้วย
           - ชื่อเรื่อง
           - ชื่อผู้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ใช้หลักการเดียวกับการเขียนปก
             นอก
           - อีเมล (E-mail) หมายเลขโทรศัพท์
           - ชื่อครูที่ปรึกษา หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล และชื่อโรงเรียนของครูที่ปรึกษา
           - ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาพิเศษพร้อมระบุตำแหน่งทางวิชาการ (ถ้ามี) หมายเลขโทรศัพท์อีเมล์และชื่อหน่วยงาน
           - วัน เดือน ปี ที่ทำ (ระบุภาคการศึกษา และปีการศึกษาที่ทำ)
           - ผู้สนับสนุนการทำโครงงาน เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือหน่วยงานอื่นๆ
       2. ส่วนบทคัดย่อ ประกอบด้วยจุดประสงค์ วิธีการดำเนินงาน ผลการดำเนินงาน และอาจมีข้อเสนอแนะด้วย การเขียนส่วนบทคัดย่อ เขียนเป็นความเรียงต่อเนื่อง ระบุจุดประสงค์ ขอบเขตของโครงงาน วิธีการดำเนินงาน วิธีการเก็บข้อมูล ผลการดำเนินงาน ความยาวทั้งหมดไม่ควร 1 หน้า หรือประมาณ 250-300 คำ ในส่วนของวิธีการดำเนินงานควรระบุขนาดของกลุ่มตัวอย่าง วิธีการรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลตามลำดับจุดประสงค์ แล้วนำเสนอผลการดำเนินงานตามลำดับ โดยนำเสนอเฉพาะประเด็นสำคัญในลักษณะการสรุปเท่านั้น
       3. คำสำคัญ (keyword) เป็นคำที่ให้ไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในการสืบค้นสำหรับผู้ที่สนใจ โดยเลือกคำที่มีความหมายเฉพาะ และเกี่ยวข้องกับงานที่ทำในโครงงานมากที่สุด โดยไม่ควรเกิน 5 คำ

กิตติกรรมประกาศ

            กิตติกรรมประกาศเป็นส่วนที่ผู้ทำโครงงานเขียนแสดงความขอบคุณบุคคล สถาบัน หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ ให้ความร่วมมือทั้งในการค้นคว้าความรู้ การดำเนินงาน ให้ข้อคิดเห็นและให้ข้อมูล การเขียนกิตติกรรมประกาศเป็นการแสดงถึงจรรยาบรรณทางวิชาการที่ผู้ทำโครงงานควรถือปฏิบัติ ข้อความที่เขียนควรเป็นภาษาทางวิชาการ ไม่ใช้ภาษาพูดและคำสแลง การระบุชื่อบุคคลให้ระบุทั้งชื่อ นามสกุล และคำนำหน้า ถ้าเป็นบุคคลที่มียศ/ ตำแหน่งหน้าที่การงานให้ระบุไว้ด้วย หากต้องการแสดงความขอบคุณบุคคลในครอบครัวให้จัดไว้ในลำดับสุดท้าย
           กิตติกรรมประกาศนี้ให้พิมพ์ไว้ต่อจากบทคัดย่อ ความยาวไม่เกิน 1 หน้า ท้ายข้อความระบุชื่อผู้เขียนรายงานโครงงาน สำหรับกรณีที่ผู้จัดทำเพียงคนเดียวให้ลงชื่อใต้ข้อความ แต่ถ้าเป็นคณะผู้จัดทำ ไม่ต้องลงชื่อ นอกจากนี้ถ้าที่ปกนอกมีการระบุ ปี พ.ศ. หรือปีการศึกษาปรากฏอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องลงวัน เดือน ปี

สารบัญ

           สารบัญเป็นส่วนที่แสดงลำดับหน้าของรายงานทั้งฉบับ ซึ่งประกอบด้วยส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนอ้างอิง ในส่วนนำให้ใช้เป็นตัวอักษร โดยเริ่มบทคัดย่อเป็นหน้า ก ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนอ้างอิงให้ใช้เป็นตัวเลข
           ในส่วนของรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์ที่มีการแสดงผลเป็นตารางและภาพ (รูปภาพ แผนที่
แผนภูมิ กราฟ ฯลฯ) ในหัวข้อสารบัญต้องมีหัวข้อสารบัญตาราง และสารบัญภาพเป็นหัวข้อย่อย แม้จะมี
จำนวนเพียง 1 ตาราง / ภาพ ก็ตาม)

คำอธิบายสัญลักษณ์และคำย่อ

           เป็นส่วนที่อธิบายถึงสัญลักษณ์และคำย่อต่างๆ ที่ใช้ในการทำโครงงาน เพื่อชี้แจงให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เช่น
สัญลักษณ์          คำอธิบาย
BK                     กรุงเทพมหานคร
CO                    แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์
+                      พบแบคทีเรียจำนวน 1-5 โคโลนี
++                    พบแบคทีเรียจำนวน 6-10 โคโลนี
+                      เส้นผ่านศูนย์กลางของ inhibition zone 6.1-9 mm
                 ความคิดเห็น แสดงความพึงพอใจระดับมาก
                 ความคิดเห็น แสดงความพึงพอใจระดับปานกลาง
                 ความคิดเห็น แสดงความพึงพอใจระดับน้อย

อ้างอิงจาก......สาขาโอลิมปิกวิชาการและพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) กระทรวงศึกษาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น