ค้นหา

วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รูปแบบการพิมพ์รายงานโครงงานฯ ตอนที่ 2

                  รูปแบบการพิมพ์รายงานโครงงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์



                                                 โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์
                                                                จัดทำโดย
                 สาขาโอลิมปิกวิชาการและพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
               สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ

................................................................................................................................................................................................................................


2. ส่วนเนื้อความ (text)
    2.1 การแบ่งเนื้อเรื่อง (sections and subsections)
          • การแบ่งบท ควรแบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นบทหรือตอน และเมื่อเริ่มบทใหม่หรือตอนใหม่ต้องขึ้นหน้าใหม่เสมอ
          • ให้พิมพ์คำว่า “บทที่” กลางหน้ากระดาษ และมีเลขประจำบทเป็นเลขไทยหรือเลขอารบิกสำหรับรายงานภาษาไทย และเลขโรมันใหญ่ สำหรับรายงานภาษาอังกฤษ ชื่อบทให้พิมพ์ไว้กลางหน้ากระดาษในบรรทัดต่อจากบทที่ ชื่อบทภาษาอังกฤษให้ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทุกตัวอักษร ใช้ตัวอักษรตัวหนาขนาด 22 จุด
          • เว้น 1 บรรทัด ก่อนเริ่มพิมพ์เนื้อความของแต่ละบท

    2.2 ตาราง (tables)
          • การนำเสนอตารางทำได้สามวิธี ให้เลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง คือ
             1) นำเสนอตารางต่อจากข้อความที่กล่าวถึงตารางนั้น โดยบรรยายผลการดำเนินงานที่ได้ให้ครบถ้วน แล้วจึงเขียน คำว่า ดังตารางที่... หากมีเนื้อที่ไม่เพียงพอที่จะเสนอตารางในหน้าเดียวกันกับข้อความให้พิมพ์ข้อความอื่นต่อจนหมดหน้ากระดาษแล้วจึงเริ่มพิมพ์ตารางในหน้าถัดไป โดยก่อนพิมพ์ตาราง ให้พิมพ์ข้อความชิดด้านซ้ายของกระดาษว่า
                             ตารางที่ ....................................... (ใส่ชื่อตาราง)
             2) นำเสนอตารางทั้งหมดไว้ด้วยกันในที่หนึ่งที่ใดตามความเหมาะสม
             3) นำเสนอตารางเป็นตอนๆ แยกจากข้อความตามความเหมาะสม
          • ขนาดของตารางไม่ควรเกินกรอบหน้ากระดาษ สำหรับตารางที่มีขนาดใหญ่ให้ลดขนาดลงด้วยการใช้เครื่องถ่ายสำเนาหรือวิธีการอื่นๆ โดยให้คงความชัดเจนไว้
          • หากตารางยังมีความกว้างเกินกรอบหน้ากระดาษให้พิมพ์ตารางตามแนวนอนของหน้า กระดาษ
โดยหมุนส่วนบนของตารางเข้าหาขอบซ้ายของหน้ากระดาษ และพิมพ์ไว้หน้าหนึ่งต่างหาก ไม่พิมพ์ข้อความอื่นไว้ในหน้าเดียวกัน การพิมพ์หมายเลขหน้าจะต้องทำเช่นเดียวกับหน้าอื่นๆ
          • หากจำเป็นต้องต่อตารางข้ามหน้า ให้พิมพ์คำว่า ตารางและพิมพ์หมายเลขตารางแล้วพิมพ์คำว่า(ต่อ) ไว้ในวงเล็บ
          • สำหรับตารางที่มีหัวเรื่องควบสดมภ์ (boxhead) มากๆ ให้ซอยตารางออกได้
          • คำอธิบายตาราง ประกอบด้วยหมายเลขตารางและชื่อตาราง ทั้งนี้
             1) อาจเรียงหมายเลขลำดับตาราง ตั้งแต่ตารางแรกจนถึงตารางสุดท้ายในรายงาน หรือเรียง
หมายเลขลำดับตารางแยกออกเป็นบทๆ เช่น ตารางที่ 1.1 (อยู่ในบทที่ 1) ตารางที่ 2.1 (อยู่ในบทที่ 2) ตารางที่ ก.1 (อยู่ในภาคผนวก ก) เป็นต้น
             2) พิมพ์คำว่า ตารางที่ และหมายเลขลำดับตารางด้วยตัวอักษรตัวหนาขนาด 16 จุด จากนั้นเว้นระยะสองช่วงตัวอักษร แล้วจึงพิมพ์ชื่อตารางที่เป็นข้อความกะทัดรัดและสื่อความหมายชัดเจน
             3) กรณีชื่อตารางยาวเกิน 1 บรรทัด ให้พิมพ์ตัวอักษรตัวแรกของบรรทัดถัดไป ตรงกับอักษรตัว
แรกของชื่อตาราง

    2.3 ภาพ (figures)
          • การนำเสนอภาพประกอบทำได้สองวิธี ให้เลือกใช้แบบใดแบบหนึ่งตลอดทั้งเล่ม คือ
             1) นำเสนอภาพต่อจากข้อความที่กล่าวถึงภาพนั้น โดยบรรยายผลการดำเนินงานที่ได้ให้ครบถ้วน แล้วจึงเขียน คำว่า ดังภาพที่... หากมีเนื้อที่ไม่พอที่จะเสนอภาพประกอบไว้ในหน้าเดียวกันกับข้อความ ให้พิมพ์ข้อความอื่นต่อให้หมดหน้ากระดาษ แล้วจึงเสนอภาพประกอบหน้าถัดไป หรือ
             2) นำเสนอภาพประกอบทั้งหมดไว้ด้วยกันในที่หนึ่งที่ใดตามความเหมาะสม
         • ภาพประกอบที่มีขนาดใหญ่เกินหน้ากระดาษ ให้ลดขนาดลงด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่เหมาะสมหากวางภาพในกรอบของหน้ากระดาษตามปกติไม่ได้ให้วางภาพตามแนวนอน โดยหันด้านบนของภาพประกอบชิดขอบซ้ายมือของรายงาน
         • การผนึกภาพให้ใช้กาวอย่างดีและผนึกอย่างประณีต เรียบร้อย เหมาะสม และสวยงาม ทั้งนี้จะวางตามแนวตั้งหรือแนวนอนของหน้ากระดาษก็ได้
         • คำอธิบายภาพ ประกอบด้วยหมายเลขลำดับภาพและชื่อภาพ ทั้งนี้
            1) อาจเรียงหมายเลขลำดับภาพตั้งแต่ภาพแรกจนถึงภาพสุดท้าย หรือเรียงหมายเลขลำดับภาพแยกออกเป็นบทๆ เช่น ภาพที่ 1.1 (อยู่ในบทที่ 1) ภาพที่ 2.1 (อยู่ในบทที่ 2) ภาพที่ ก.1 (อยู่ในภาคผนวก ก)
            2) พิมพ์คำว่า ภาพที่ และหมายเลขลำดับภาพด้วยตัวอักษรตัวหนาขนาด 16 จุด จากนั้นเว้นระยะสองช่วงตัวอักษร แล้วจึงพิมพ์ชื่อภาพที่เป็นข้อความกะทัดรัดและสื่อความหมายชัดเจน ด้วยตัวปกติ
            3) พิมพ์คำอธิบายภาพประกอบไว้ใต้ภาพ กลางหน้ากระดาษ

3. บรรณานุกรม (bibliography) และ เอกสารอ้างอิง (references)
          • พิมพ์คำว่า บรรณานุกรม หรือ เอกสารอ้างอิง ไว้กลางหน้ากระดาษ ด้วยตัวอักษรหนาขนาด 22 จุด
          • เว้น 1 บรรทัด แล้วจึงพิมพ์รายการแรก หากรายการที่พิมพ์ยาวเกินหนึ่งบรรทัด ให้ตัดไปพิมพ์ในบรรทัดถัดไปโดยย่อหน้าเข้าไปแปดช่วงตัวอักษรพิมพ์ ใช้ตัวอักษรปกติขนาด 16 จุด
          • ให้พิมพ์รายการอ้างอิงหรือบรรณานุกรม ที่เป็นภาษาไทยก่อนภาษาต่างประเทศ
          • เรียงแต่ละรายการตามลำดับอักษรของคำแรกของแต่ละรายการตามพจนานุกรม

4. ภาคผนวก (appendix)
          • ขึ้นหน้าใหม่ พิมพ์คำว่า ภาคผนวก กึ่งกลางหน้ากระดาษ ด้วยตัวอักษรตัวหนาขนาด 22 จุด โดยไม่ต้องพิมพ์เลขหน้า แต่นับหน้า
          • กรณีมีหลายภาคผนวก ให้ขึ้นหน้าใหม่และพิมพ์เลขหน้า และพิมพ์เรียงลำดับเป็น ภาคผนวก ก ภาคผนวก ข ภาคผนวก ค ฯลฯ โดยไม่ใส่เครื่องหมายมหัพภาค (.) หลังตัวอักษรลำดับภาคผนวก แล้วพิมพ์ชื่อภาคผนวกในบรรทัดถัดไป โดยใช้ตัวอักษรตัวหนาขนาด 22 จุด
          • เว้น 1 บรรทัด ก่อนพิมพ์ข้อความบรรทัดแรก
          • สำหรับจดหมาย แบบสอบถาม (questionnaires) แบบตรวจสอบ (check list) แบบสำรวจ (inventory) ฯลฯ ที่ใช้ในการเก็บข้อมูล หากมีขนาดใหญ่กว่ากระดาษที่ใช้พิมพ์รายงานให้ลดขนาดลง โดยการถ่ายสำเนาเอกสาร หรือพิมพ์ใหม่ในกระดาษที่ใช้พิมพ์รายงาน
          • ภาคผนวกที่เป็นอภิธานศัพท์ (glossary) หากไม่ได้นำเสนอไว้ในบทนำ ให้เรียงศัพท์ตามลำดับอักษรโดยพิมพ์อักษรตัวแรกของศัพท์แต่ละคำห่างจากริมขอบกระดาษด้านซ้ายมือหนึ่งนิ้วครึ่ง เว้นระยะสองช่วงตัวอักษร แล้วจึงพิมพ์คำอธิบาย หากคำอธิบายศัพท์ยาวเกินหนึ่งบรรทัด ให้พิมพ์บรรทัดต่อไปโดยย่อหน้าเข้าไปแปดช่วงตัวอักษร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น